Huawei เดินหน้าสู้ ! ส่งเรื่องร้องศาลปกครอง เหตุถูกแบนร่วมเครือข่าย 5G ในสวีเดน

องค์การไปรษณีย์และโทรคมนาคมของประเทศสวีเดน (PTS) ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า Huawei ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังศาลปกครองของเมืองสตอกโฮล์มเพื่อขอความเป็นธรรมในกรณีที่สวีเดนได้กีดกันหัวเว่ยออกจากเครือข่าย 5G ภายในประเทศ โดยสาเหตุเริ่มมาจากเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ทางการสวีเดนได้สั่งแบน 2 บริษัทเทคโนโลยีจากจีน อย่าง Huawei และ ZTE ออกจากเครือข่าย 5G ซึ่ง PTS ได้กำหนดให้บริษัทต่าง ๆ ที่จะเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวในสัปดาห์หน้า จะต้องไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ของ Huawei และ ZTE ส่วนของเก่าที่มีการติดตั้งไว้แล้วจะต้องถอดออกไปจนไม่มีการใช้งาน อย่างช้าที่สุดเป็นวันที่ 1 มกราคม 2025

Huawei

PTS อ้างว่าระเบียบดังกล่าวได้ยึดตามคำแนะนำของหน่วยงานกองกำลังรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ที่ได้ระบุว่าจีนเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ใหญ่สุดต่อสวีเดน หลังจากนั้นหนึ่งวันถัดมา กระทรวงการต่างประเทศของจีนถึงกับต้องออกหน้ามาเรียกร้องให้สวีเดนยกเลิกการแบนอุปกรณ์ Huawei และ ZTE จากการประมูลคลื่นความถี่ 5G ครั้งนี้ โดยขู่ว่าให้สวีเดนแก้ไขการตัดสินใจที่ผิดพลาดเพื่อหลีกเลี่ยงการนำไปสู่ผลกระทบเชิงลบต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน - สวีเดน รวมไปถึงการดำเนินงานของบริษัทสวีเดนในจีนอีกด้วย

เวลาผ่านไปหลายวันดูเหมือนจะไม่มีอะไรคืบหน้า หัวเว่ยจึงต้องหันมาพึ่งพาความยุติธรรมจากศาลเพื่อให้การติดสินผ่านกระบวนการถูกต้องและเป็นไปตามหลักกฎหมาย เนื่องจากการกระทำของทางการสวีเดนไม่ได้ส่งผลดีต่อผู้ให้บริการและประชาชนชาวสวีเดนเอง จากข้อมูลในระดับโลก Huawei เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีบรอดแบรนด์ เพราะอุปกรณ์มีราคาถูกกว่าคู่แข่งอยู่ประมาณ 30% มีส่วนแบ่งทางการตลาดของอุปกรณ์โทรคมนาคมทั่วโลกในปี 2019 อยู่ที่ 28% รองลงมา คือ Nokia 16% , Ericsson 14% , ZTE 10% , Cisco 7% และ Samsung 3% ดังนั้น การเลือกใช้อุปกรณ์ของ Huawei นอกจากจะมีต้นทุนที่ถูกแล้ว ก็ยังสามารถปรับเปลี่ยนเครือข่ายมาเป็น 5G ได้เร็วขึ้น เพราะผู้ให้บริการส่วนใหญ่ใช้อุปกรณ์ของ Huawei อยู่แล้ว จึงเชื่อได้ว่าการเล่นการเมืองมากไปจะทำให้ใช้ 5G ได้ช้ากว่าคนอื่น อีกทั้งค่าบริการอาจแพงตามต้นทุนที่สูงขึ้นอีกด้วย

Huawei

เมื่อสังเกตความเคลื่อนไหวแล้วจะพบได้ว่า การแบน Huawei ในประเทศสวีเดนนั้นมีเหตุเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรปที่ออกมาแบนก่อนหน้านี้ ซึ่งหลาย ๆ ประเทศต่างได้รับความกดดันทางการฑูตมาจากสหรัฐฯ และเชื่อได้ว่าการจัดการบริษัทของจีนยังเป็นผลดีต่อคู่แข่ง อย่าง Nokia และ Ericsson ที่เป็นบริษัททางฝั่งยุโรปตอนเหนือ หรือกลุ่มนอร์ดิกเองด้วย

ยังไงก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งก็มีการกล่าวอ้างว่า Huawei ไม่ได้เป็นบริษัทของเอกชน แต่เป็นของบริษัทโฮลดิ้งโดยคณะกรรมการสหภาพแรงงาน 99% จึงมีทุนมากพอที่จะทุบราคาเพื่อยึดตลาด และกฎหมายข่าวกรองแห่งชาติปี 2017 ของจีนก็ได้กำหนดให้บริษัทและประชาชนทั้งหมด ให้ความร่วมมือกับหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ จึงทำให้สหรัฐฯ และออสเตรีเลียเชื่อว่าจีนอาจใช้ Huawei ในการสอดแนมข้อมูล ซึ่ง Huawei ก็ได้ออกมาปฏิเสธอย่างเด็ดขาดแล้วว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน


อ่านเพิ่มเติม : ข่าวไอที ข่าวมือถือ

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น