Google แนะนำเครื่องมือสำหรับผู้พิการและครีเอเตอร์ผู้พิการบนเครื่องมือและบริการต่าง ๆ ของตัวเอง

Google / YouTube

ต้องขอบอกเลยว่า Google ไม่ได้พัฒนาบริการและเครื่องมือต่าง ๆ ออกมาเฉพาะสำหรับคนทั่วไปที่อยู่ทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังได้เล็งความสำคัญและต้องการให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้อีกด้วย จากการรวบรวมข้อมูลจะพบว่ามีทั่วโลกมีผู้พิการอยู่ประมาณ 15% หรือประมาณ 1 พันล้านคน ซึ่งปัจจุบันกูเกิลก็ได้พัฒนาฟีเจอร์ที่คำนึงถึงผู้พิการมากมาย ดังนี้

  • ฟีเจอร์ Action Blocks สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องด้านสติปัญญา เพื่อให้สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันบนอุปกรณ์ Android ได้ง่ายขึ้นด้วยปุ่มที่ถูกปรับแต่งบนหน้าจอหลักเพียงปุ่มเดียว ซึ่งผู้พิการสามารถเปิดใช้งาน Action Blocks และเลือกกิจกรรมจากรายการที่มีอยู่ภายในแอปพลิเคชัน หรือพิมพ์กิจกรรมเพิ่มลงไปในการตั้งค่าด้วยตัวเอง เช่น วิดีโอคอลกับคนสำคัญ ตรวจสอบสภาพอากาศ หรือเปิดดูคลิปวิดีโอที่ชอบ
  • ฟีเจอร์ Reading Mode หรือโหมดการอ่านบนอุปกรณ์ Android ที่มาพร้อมกับตัวเลือกหน้าจอที่ปรับแต่งได้ เช่น Contrast รูปแบบของฟอนต์และขนาด ไปจนถึงฟังก์ชันการอ่านออกเสียงข้อความที่สามารถกำหนดความเร็วได้ ช่วยให้ผู้ที่ประสบปัญหาทางการมองเห็น เช่น ตาบอด มองเห็นเลือนราง หรือผู้มีภาวะผิดปกติทางด้านการอ่านสามารถติดตามคอนเทนต์ที่ชื่นชอบได้อย่างง่ายดาย
  • ฟีเจอร์ Live Transcribe ที่สามารถแปลงเสียงพูดให้กลายเป็นข้อความแบบ Realtime ได้ เป็นการช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับการสนทนาในชีวิตประจำวันของคนหูหนวก หรือผู้มีปัญหาทางการได้ยิน โดยจะมีให้เลือกมากกว่า 80 ภาษา และสลับไปมาระหว่าง 2 ภาษาได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งผู้ใช้สามารถที่จะตั้งค่าให้โทรศัพท์สั่นเมื่อชื่อของผู้ใช้ถูกเรียกได้ มีตัวเลือกในการเพิ่มคำศัพท์ สถานที่ และสิ่งต่าง ๆ ลงไปในโหมดนี้ ตลอดจนคำที่ไม่มีในพจนานุกรมและฟีเจอร์ที่ช่วยค้นหาการถอดเสียงที่ผู้ใช้ทำการบันทึกไว้ รวมถึงการแจ้งเตือนเสียงที่มีคุณลักษณะเกี่ยวกับสถานที่ที่อาจมีความเสี่ยงและสถานการณ์ส่วนบุคคล โดยพิจารณาเสียงที่ดังขั้นที่บ้าน เช่น เสียงสัญญาณเตือน เสียงไซเรน หรือเสียงเด็กทารก
  • Sound Amplifier เป็นแอปพลิเคชันขยายเสียงที่ช่วยให้เสียงบน Android ชัดเจนขึ้น ช่วยตัดเสียงรบกวนรอบข้าง แต่ก็จะไม่ปรับให้เสียงนั้นดังจนเกินไป พร้อมด้วยการตั้งค่าที่คุณปรับแต่งตามความต้องการได้ ทั้งยังเพิ่มความสามารถในการใช้ Sound Amplifier ให้เป็นเครื่องมือขยายเสียงแบบพกพาด้วยหูฟังบลูทูธ เพียงแค่คุณวางอุปกรณ์เอาไว้ใกล้ ๆ กับแหล่งกำเนิดเสียง เสียงนั้นก็จะถูกเพิ่มระดับขึ้นโดยไม่รบกวนผู้อื่น นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการขยายเสียงสำหรับแอปอื่น ๆ บนสมาร์ตโฟน Google Pixel ได้อีกด้วย เช่น YouTube และ Spotify
  • สำหรับแพลตฟอร์ม YouTube เอง ก็ยังสามารถเปิดคำบรรยายประกอบกับวิดีโอที่กำลังรับชมอยู่ ซึ่งฟีเจอร์นี้เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยิน
  • เมื่อเร็ว ๆ นี้ Google Maps ในประเทศไทยยังได้เพิ่มข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้พิการ เช่น การดูสถานที่ที่รองรับเก้าอี้รถเข็น (Accessible Places) หรือสถานที่ที่สามารถใช้รถวีลแชร์ได้บน Google Maps เช่น ที่นั่ง ทางเข้าออก ห้องน้ำ ลิฟต์ และที่จอดรถ ไปจนถึงผู้ประกอบการก็ยังสามารถตั้งค่า Attribute ของวีลแชร์เพื่อแสดงให้ผู้ใช้บริการเห็นความช่วยเหลือพิเศษดังกล่าว

อ่านเพิ่มเติม : ข่าวไอที

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น